ภาวะสมองเสื่อม คืออะไร

คือกลุ่มอาการที่มีความเสื่อมถอยในการทำงานของสมองหลากหลายฟังก์ชั่น เช่น การทำงานด้านความจำ การใช้ภาษา การแก้ไขปัญหา หรือความสามารถในการคิดที่บกพร่องจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมประกอบไปด้วยกลุ่มโรคต่างๆอย่างหลากหลาย เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด (Vascular dementia) กลุ่มอาการสมองเสื่อมในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson dementia) กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของ Lewy bodies (Dementia with Lewy bodies) โรคที่มีความผิดปกติของสมองส่วนหน้า (Frontotemporal lobe) และกลุ่มอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

  1. เกิดจากการเสื่อมสลายของเนื้อสมองเนื่องจากสมองมีการเสื่อมสลายหรือตาย ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ พบบ่อยในกลุ่มโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน
  2. เกิดจากหลอดเลือดสมอง ที่หนา แข็งตัวหรือมีการตีบตัวที่ผิดปกติ ส่งผลให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง หรือมีภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือตัน ทำให้เนื้อสมองตาย ซึ่งมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ผู้ที่มีระดับไขมันสูงหรือผู้ที่สูบบุหรี่
  3. เกิดจากการติดเชื้อในสมองที่มีเชื้อไวรัสหลายชนิด ทำให้เกิดการอักเสบในสมอง เช่น ไวรัสสมองอักเสบ ซิฟิลิส วัณโรค HIV
  4. เกิดจากการถูกกระทบกระแทกที่ศีรษะ ทั้งที่เป็นอุบัติเหตุร้ายแรงหรือถูกกระทบกระแทกซ้ำ ๆเป็นเวลานาน
  5. เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี 1 บี 12 โดยผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 มักพบในผู้ป่วยติดเหล้า การขาดวิตามินบี 12 พบในผู้ที่ทานมังสาวิรัตอย่างเคร่งครัดเป็นเวลานาน หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางเดินอาหารส่วนต้น
  6. เกิดจากความผิดปกติของระบบการเผาพลาญของร่างกาย เช่น การทำงานของต่อมไร้ท่ออย่างไทรอยด์ผิดปกติ การทำงานของตับหรือไตที่ทำให้เกิดของเสียคั่งในร่างกาย
  7. เกิดจากเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะเนื้อสมองที่เกิดจากทางด้านหน้า
  8. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ หรือยาที่มีฤทธิ์ลดสารสื่อประสาท
  9. ภาวะบางอย่างที่แสดงลักษณะคล้ายสมองเสื่อม เช่น โรคซึมเศร้า หรือภาวะสับสนเฉียบพลัน

ระดับความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อม

  • ระดับเริ่มต้น (mild)

          เป็นระยะที่มีภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีความสามารถสมองลดลง เช่น ด้านความจำลืมเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้น เริ่มบกพร่องในการงานและสังคม แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ และการตัดสินใจค่อนข้างดี โดยเฉลี่ยความรุนแรงระยะนี้อยู่ที่ 2 ถึง 4 ปี

  • ระดับปานกลาง (moderate)

          เป็นระยะที่มีความสามารถทางสมองลดลงมากขึ้น มีความบกพร่องในความจำความเข้าใจ ความสามารถในการเรียนรู้ การคิดการตัดสินใจแก้ปัญหา ไม่สามารถจำบุคคลใกล้ชิดได้ หรือสับสนในการสื่อสาร ซึ่งในระยะนี้อาจมีปัญหาพฤติกรรรมและอารมณ์ เช่น ก้าวร้าว หลงผิด การเดินไปมาแบบไรจุดหมาย wandering ซึ่งจำเป็นต้องมีญาติและผู้ดูแลคอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยเฉลี่ยความรุนแรงระยะนี้อยู่ที่ 2 ถึง 10 ปี

  • ระดับรุนแรง (severe)

          ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ต้องอาศัยญาติและผู้ดูแลในการช่วยเหลือทุกกิจกรรม ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถสื่อสารได้ จำญาติพี่น้องหรือตนเองไม่ได้ มีความยากลำบากในการทรงตัวและใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งท้ายที่สุดอาจนอนติดเตียงได้ โดยเฉลี่ยความรุนแรงระยะนี้อยู่ที่ 1 ถึง 3 ปี